การค้นพบกล้วยไม้

การค้นพบกล้วยไม้

แถบที่จะพบกล้วยไม้มากในแต่ละภูมิภาคของโลกคือ    แถบที่มีอากาศร้อนถึงอบอุ่น   ในเขตหนาวก็มีบ้าง  เช่น  ในทวีปยุโร ตอนเหนือ     สำหรับในประเทศไทยนั้น  นับว่าเป็นเขตที่มีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมแก่การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาก   มีกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด  ทั้งชนิดที่เป็นช่อรวมกันหลายๆดอก   และชนิดดอกเดี่ยว  แต่ละชนิดก็จะมีชื่อเรียกต่างๆกันมากมาย เช่น   แวนดา   หวายต่างๆ   เอื้องต่างๆ   เป็นต้น   นอกจากนั้นยังมีผู้ผสมพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาเรื่อยๆ     กล้วยไม้ในบ้านเมืองของเราจึงเป็นพืชไม้ดอกที่คนนิยมซื้อ   เพื่อให้กันและกันในวาระต่างๆอย่างแพร่หลายในประเทศ  และยังเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศที่ไม่น้อยหน้าใครอีกด้วย

กล้วยไม้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  “orchid”  น่าแปลกที่ทั้งในภาษา   ไทยและอังกฤษต่างก็มีความหมายใกล้เคียงกัน   เราเรียกพืชชนิดนี้ว่ากล้วยไม้  เพราะมีลักษณะคล้ายกล้วย  ได้แก่  เอื้องต่างๆ   เช่น  เอื้องผึ้งหรือเอื้องคำ   ซึ่ง มีมากในแถบภาคเหนือของประเทศ  ส่วนของกล้วยไม้บางตอนมีลักษณะคล้ายผลกล้วยเราเรียกว่า     ลำลูกกล้วย   คำว่า  “orchid”   นั้นมาจากภาษากรีก หมายความถึง    ลักษณะโป่งเป็นกระเปาะคล้ายต่อม    ชื่อนี้ก็คงจะได้มาจากการพิจารณาจากลำลูกกล้วยที่เป็นส่วนของกล้วยไม้บางชนิดเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ที่บรรยายลักษณะพืชในวงศ์กล้วยไม้ ได้ยึดถือรายละเอียดต่างๆของดอกเป็นหลักสำคัญ  พันธุ์ไม้ที่ไม่มีลำลูกกล้วยอีกหลายชนิด  จึงถูกจัดรวมเข้ามาอยู่ในขอบข่ายของพืชในวงศ์กล้วยไม้ด้วย

กล้วยไม้มีสภาวะความเป็นอยู่ตามธรรมชาติแตกต่างกัน  บางชนิดอยู่บนพื้นดิน   บางชนิดอยู่บนต้นไม้   และบางชนิดขึ้นอยู่บนหินที่มีหินผุและใบไม้ผุตกทับถมกันอยู่  ทั้งนี้สุดแล้วแต่ลักษณะและอุปนิสัยของกล้วยไม้แต่ละชนิด  ซึ่งจะปรับตัวตามความเหมาะสมกับสภาวะ  และการเปลี่ยนแปลงตามสภาพต่างๆของธรรมชาติที่แวดล้อม    กล้วยไม้แต่ละชนิดต่างก็มีลักษณะและระบบของรากที่เข้ากับสิ่งที่ไปอาศัยพักพิงอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด

กล้วยไม้ชนิดที่ขึ้นอยู่บนดิน     รากจะมีลักษณะเป็นหัวและอวบอิ่มไปด้วยน้ำ    จึงมีศัพท์เฉพาะที่บรรยายลักษณะของรากเช่นนี้ว่า  “อวบน้ำ”  กล้วยไม้  ประเภทนี้มีอยู่หลายสกุล    เช่น   สกุลฮาเบนาเรีย (Habenaria) เพกไทลิส (Pecteilis) และแบรกคีคอไรทิส (Brachycorythis) เราเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า  กล้วยไม้ดิน  ในบ้านเราที่พอจะจัดเข้าประเภทนี้ได้ก็คือ นางอั้ว  นางกรวย   และท้าวคูลู  ซึ่งจะผลิดอก  ในระหว่างกลางถึงปลายฤดูฝนของแต่ละปี   เราอาจจะพบกล้วยไม้ประเภทนี้อีกหลายชนิด ขึ้นอยู่ในภูมิภาคต่างๆของโลกอย่างกว้างขวาง   แม้แต่เขตหนาวเหนือของทวีปยุโรป  เช่น  ตามหมู่เกาะต่างๆ  ในทะเลบอลติก   ซึ่งในฤดูหนาวมีหิมะตกทับถมบนพื้นดินหนามาก   และเป็นเวลานานหลายเดือนด้วย   แต่กล้วยไม้เหล่านี้ก็คงทนอยู่ได้   เนื่องจากมีความสามารถพิเศษในการปรับลักษณะของตัวเองให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ของฤดูกาลที่ปรากฏเป็นประจำในรอบปีได้  กล่าวคือ  เมื่อถึงฤดูที่อากาศหนาวจัดหรือแห้งจัด    ต้นและใบที่อยู่เหนือพื้นดินจะแห้งไป     คงเหลือแต่หัวฝังตัวอยู่ภายใต้ผิวดิน   ครั้นพอถึงฤดูที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม  ก็จะเจริญขึ้นมาเป็นต้นและใบ   เมื่อเจริญเต็มที่  ก็จะผลิดอกและสร้างหัวใหม่  เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้ใต้ผิวดินอีก    เมื่อหัวใหม่เจริญเต็มที่     ส่วนต้น   ใบ   และดอกเหนือผิวดินก็จะถึงเวลาแห้งเหี่ยวพอดี  ส่วนหัวจะพักรอเวลาที่อากาศเหมาะสม  ก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ดังนี้เรื่อยไปนอกจากกล้วยไม้ดิน  ซึ่งมีหัวเป็นที่สะสมอาหารใต้ดินแล้ว    ยังมีกล้วยไม้ประเภทไม่มีหัว   และชอบขึ้นอยู่บนหินภูเขาที่มีเศษหินผุ     และเศษใบไม้ผุตกทับถมกันอยู่หนาพอสมควร   เป็นกล้วยไม้ในสกุลพาฟิโอเพดิลัม (Paphiopedilum)  หรือที่คนไทยเรียกกันว่า   กล้วยไม้รองเท้านารี  และยังมีบางประเภทซึ่งเกาะอยู่บนคาคบไม้    ซึ่งจะพบได้ในเขตร้อน  เช่น  กล้วยไม้ในสกุลแวนดา  (Vanda)  คัทลียา  (Cattleya)   และสกุลเดนโดรเบียม (Dendrobium) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า สกุลหวาย   กล้วยไม้ประเภทนี้จะมีลักษณะแปลกออกไปคือ   มีรากใหญ่    ยาวและแตกแขนงรากอย่างโปร่งๆ เป็นรากอากาศ   แม้จะเกาะกับต้นไม้ ก็จะมีส่วนที่ยาวและห้อยลงมาในอากาศด้วย  แต่รากกล้วยไม้สกุลคัทลียาและเดนโดรเบียมมีลักษณะค่อนข้างเล็ก   ละเอียด   และหนาแน่น  ไม่โปร่งอย่างแวนดา   บางตำราจึงแยกกล้วยไม้สกุลคัทลียา และเดนโดรเบียมไปไว้ในประเภทกึ่งอากาศ

              กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้มิใช่กาฝาก   เป็นเพียงอาศัยเกาะ และอาศัยร่มเงาจากกิ่งและใบของต้นไม้เท่านั้น    มิได้แย่งอาหารใดๆจากต้นไม้ที่อาศัยเกาะนั้นเลยรากของกล้วยไม้ได้อาศัยความชื้นจากอากาศ หรือจากเปลือกของต้นไม้  และอาศัยธาตุอาหารต่างๆ  จากการผุและสลายตัวของใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมาค้างอยู่ตาม กิ่งไม้ หรือจากเปลือกชั้นนอกของต้นไม้ที่ผุเปื่อยแล้ว   กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีสีเขียว   เช่นเดียวกับต้นไม้ทั่วไป  จึงมีความต้องการแสงสว่าง  น้ำหรือความชื้น  ธาตุอาหาร  และอุณหภูมิที่เหมาะสม   เพื่อการดำรงชีวิต  การเจริญเติบโต    และผลิดอกออกช่อตามเวลาอันสมควร   ไม่แตกต่างไปจากต้นไม้


ใส่ความเห็น